17 มกราคม 2552

- คำสอนเตือนใจ



เมื่อวันอังคารที่ 6 มกราคม 2552 เป็นอีกวันที่อยากจะเล่าสู่กันฟัง ประมาณ 4 โมงเย็น ผมได้ไปแวะเยี่ยมอาจารย์วิวัฒน์ กิรานนท์ ภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์โทรคมนาคม ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาชมรมพุทธศาสตร์และประเพณี ซึ่งตั้งอยู่ที่หลังตึก A คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ผมเข้าไปเพื่อสวัสดีปีใหม่และลาอาจารย์เพื่อไปเรียนต่อแบบเต็มเวลา อาจารย์ท่านได้ให้ข้อคิด ข้อเตือนใจหลายอย่าง


เมื่อก่อนย้อนไปตอน 10 ปีที่แล้ว ตอนที่ผมเรียนปริญญาตรีปีที่ 1 ที่นี่ผมก็ได้เข้าร่วมกิจกรรมกับชมรมฯหลายกิจกรรม รวมถึงการเป็นผู้จัดงานหลายค่ายหลายงาน

เช่น ค่ายธรรมสัญจร
ค่ายพุทธบำเพ็ญ
งานวันบวช และอื่นๆอีกมาก


จนได้เข้าร่วมอุปสมบทกับทางชมรมฯด้วยในช่วงภาคฤดูร้อน เป็นเวลา 2 เดือน


แล้วเมื่อเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 ก็ได้รับคัดเลือกเป็นประธาน จริงๆแล้ว ไม่ใช่เพราะรู้ธรรมะมากมายอะไรเลย แต่เนื่องจากชมรมพุทธฯมีสมาชิกน้อยมาก ในวันที่เลือก เลยถูกรุ่นพี่ก็ดันให้เป็น


ดังนั้นผมก็ค่อนข้างผูกพันธ์มายาวนาน แม้ว่าผมกลับมาได้ทำงานที่เดียวกับอาจารย์แต่ก็ไม่ค่อนได้พบเจออาจารย์เลย ในวันนี้อาจารย์ก็ได้ให้ข้อคิด ข้อแนะนำหลายประการที่ผมไม่ได้ฟังแบบนี้มานานมากแล้วจริงๆ บางตอนก็เข้าใจบ้าง บางตอนก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยเข้าใจ แต่ก็อยากจะเล่าให้ฟัง และอาจจะไม่ได้พูดเหมือนอาจารย์ทุกคำพูด ผมต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ
.
- อาจารย์ก็พูดกว้างๆว่า "ไม่รู้คนเราจะเวียนว่ายตายเกิดกันอีกกี่ชาติ อีก 1 ปีผมก็จะเกษียร" เท่ากับว่าอาจารย์อายุเกือบ 60 ปีแล้ว อาจารย์ก็บอกต่อว่า "อีก 10 ปีก็อาจจะไม่อยู่แล้ว อย่างเก่งก็ 80 ปี เวลาใครมาคุยกับผม ใครไปใครมา ผมก็จะพูดแต่ว่า หมั่นทำความดีไว้ เพราะสิ่งต่างๆที่เราทำนั้นก็จะกลับมาเข้าเรา คนที่อยู่ได้อย่างสบาย โดยไม่ได้ทำความดีนั้น แสดงว่าเขากินบุญเก่าอยู่ ฉะนั้นเราก็ควรทำความดี ทำบุญ ทำทาน เสียสละ(จาคะ)"
.
- อาจารย์ได้พูดถึง "ให้ทำประโยชน์ ทำความดี แก่คนรอบข้าง แก่สัตว์รอบๆ เพราะคนเรามักจะมุ่งเน้นประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก สัตว์เช่น มด ปลวก มันเกิดมาก็เพื่อชดใช้กรรม เรายังไปช่วยสงเคราะห์มันให้ตายเร็วอีก ก็ลองคิดว่าเราเป็นมันบ้างจะรู้สึกอย่างไร คนเราก็อยากจะมีอายุยืนกัน แต่กับไม่ให้ทานแก่สิ่งมีชีวิต แล้วจะอายุยืนได้อย่างไร ก็ไม่ได้หมายถึงว่าให้ซื้อปลามาปล่อยทั้งหมด แต่ก็สิ่งมีชีวิตและสัตว์ที่อยู่รอบตัวเรา ใกล้ตัวเนี่ยล่ะ"
.
- อาจารย์ก็ยังพูดต่ออีกว่า "หมั่นงดทำความชั่ว หลีกเลี่ยงจากการทำความชั่ว ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ให้ทำน้อยสุด บางอย่างมันชัดเจนว่าเป็นบุญกุศลที่ดีอย่างชัด แต่คนอื่นมองว่าไม่ดีก็ไม่รู้จะพูดอย่างไร ก็ชังเขาไป"
.
- อาจารย์วิวัฒน์ ได้พูดถึงโรคภัยไข้เจ็บเชื่อมโยงไปยังกรรมเก่าและกรรมปัจจุบัน พูดถึงพระองค์หนึ่งที่อายุน้อย แถวกาณจนบุรี ที่เจ็บไข้ได้ป่วย จนมรณะ ในช่วงที่ท่านป่วยร่างกายก็เลื่อมลง มีพยาบาลมาถามว่าท่านเป็นอย่างไร พระท่านก็ยังยิ้ม แม้ว่าร่ายกายจะเจ็บป่วย แต่จิตใจของท่านยังร่มเย็นอยู่ เพราะร่างกายก็ยืมจากโลกนี้มา สุดท้ายกระดูกของท่านก็เป็นพระธาตุ หมายถึงว่า จิตกับร่างกายนั้นแยกออกจากกัน อย่าไปยึดมั่น ถือมั่นกับร่างกาย
.
- อาจารย์ก็มักพูดเป็นระยะๆว่า "ที่พูดผมก็ไม่ใช่วิเศษอะไร ไม่ใช่ว่าจะทำได้แบบนั้น ก็อ่านฟังมา ก็มาเล่าให้ฟัง"
.
- อาจารย์ก็ยกตัวอย่าง "บางคนก็ใกล้จะประสบความสำเร็จในชีวิต เช่น เรียนจบ แต่ก็ต้องมาจบชีวิตก่อน บางคนเสียชีวิตตั้งแต่อายุน้อย ดังนั้นควรหมั่นทำความดีไว้ ละเว้นความชั่ว"
.
- อีกอย่างที่สำคัญนั้น อาจารย์ได้ให้ข้อคิดว่า "เมื่อไปเรียน ก็ให้แบ่งเวลาในการสวดมนต์นั่งสมาธิบ้าง วันละชั่วโมง ถ้าไม่ได้ก็ครึ่งชั่วโมงก็ยังดี หรือถ้าวันไหนยุ่งก็นึกคิดถึงก็ยังดี หมั่นฝึกจิตด้วย"

.
- อาจารย์ก็ได้พูดถึง การประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน และความจริงแห่งชีวิต ก็ควรจะแบ่งเวลาให้สมดุลกัน
.

- อาจารย์ก็มอบโอวาทเกี่ยวกับการทำอาชีพการสอนให้กับตัวผมด้วย.สุดท้ายอาจารย์วิวัฒน์ก็บอกว่า "ไม่รู้ผมพูดอะไรตั้งนาน วนไปวนมา น่าเบื่อเนอะ"ผมก็ตอบว่า "ไม่น่าเบื่อเลย ผมชอบฟังครับ มันเตือนใจผมดีครับ"
.

จริงๆแล้วอาจารย์วิวัฒน์ ท่านพูดคุยกับผมประมาณครึ่งชั่วโมง แต่ด้วยสติปัญญาของผมพอจับใจความได้ประมาณนี้ครับ
.

ครับ ปกติแล้วผมไม่ค่อยได้คุยธรรมะ หรืออะไรประมาณนี้เท่าใดนะ เพราะบางอย่างผมก็ทำไม่ค่อยได้ และผมก็คุยทางด้านนี้ไม่ค่อยเก่ง และบางอย่างถือว่าเป็นความเชื่อ......... เช่น โลกหน้ามีจริง หรือเรื่องกฎแห่งกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว นรกมีจริง สวรรค์มีจริง เป็นต้น แต่ในทางพระพุทธศาสนานั้น สิ่งเหล่านี้เรียกว่าสัมมาธิฐิ คือความเห็นชอบ เป็นจุดเริ่มต้น เป็นพื้นฐานของการศึกษาพระพุทธศาสนาเลยก็ว่าได้
.
"ธรรมะคือธรรมชาติที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง"
.
ผมคนหนึ่งที่พยายามเชียร์ให้นักศึกษาออกค่าย ทำกิจกรรมเพื่อสังคมให้เยอะๆในช่วงแห่งการเรียนนี้ เพราะหลังจากเรียนจบยากที่จะมาทำอะไรแบบนี้ เช่น ค่ายติววิชาการจากชุมนุมชมรมต่างๆ, ค่ายสร้าง, ปลูกป่า, งานวันเด็กของชมรมพุทธฯ เป็นต้น ก็เป็นการทำความดีแบบหนึ่งและสนุกด้วย
.
การที่ได้ฟังคำเตือนจากอาจารย์ ช่วยเตือนสติเราได้เป็นอย่างมากเลย ผมบันทึกไว้ก็เพื่อผมจะได้มาอ่านเตือนใจผมเองบ่อยๆด้วย .ประวัติโดยย่อของอาจารย์วิวัฒน์เท่าที่ผมรู้ ท่านเป็น ศาสตรจารย์ ดร. แห่งภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม เคยบวชที่วัดป่าเป็นลูกศิษย์ หลวงปู่หล้า สายหลวงปู่มั่น

ดังนั้นชมรมพุทธฯแห่งนี้ จึงไม่ใช่สายธรรมกาย เหมือนชมรมพุทธฯหลายๆที่ เพราะฉะนั้นเวลาจัดงานบวชให้แก่นักศึกษาก็จะจัดที่วัดราชาธิวาส กรุงเทพฯ หรือเดิมชื่อวัดสมอราย ซึ่งเป็นวัดที่รัชกาลที่ 4 ท่านเคยบวช สายธรรมยุต จากนั้นนักศึกษาผู้บวชจะไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่านาคนิมินต์ หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดป่าบ้านนามน ประมาณ 1 เดือนครึ่ง

.