16 เมษายน 2553

-ไปวัดป่าสุทธาวาส ไหว้พระธาตุพนม

นอกจากในการเดินทางไปทำบุญ ถวายป้ายชื่อและโครงหลังคา กระเบื้อง และเสาเหล็ก ให้แก่ วัดป่าหนองแหวน อ.นาหว้า จ.นครพนม เป็นที่แรกในการทำบุญช่วงปีใหม่ไทย (สงกรานต์) หลังจากนั้น ได้เดินทางกลับมายังตัวเมืองสกลนคร โดยไปกราบพระธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกลนคร
.
ตามตำนานกล่าวว่า เป็นสถานที่ชุมนุมหรือประทับรอยพระบาทของพระพุทธเจ้าทั้งสี่องค์ (พระพุทธกุกกุสันธะ พระพุทธโกนาคมนะ พระพุทธกัสสปะ และพระพุทธโคตมะ) และในอนาคตจะมีพระพุทธเจ้าองค์ที่5 และเป็นองค์สุดท้ายในภัทรกัลป์ คือ พระศรีอริยาเมตตรัย ก็จะมาประทับรอยพระบาทด้วย
รูป พระธาตุเชิงชุม วัดพระธาตุเชิงขุมวรวิหาร อ. เมือง จ. สกลนคร

รูป หลวงพ่อพระแสน วัดพระธาตุเชิงขุมวรวิหาร
.
จากนั้น ข้าพเจ้าและครอบครัวได้เดินทางไปยังวัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร
.
โดยส่วนตัวแล้ว ข้าพเจ้าเองต้องการมานมัสการอัฐิธาตุของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ตั้งนานแล้ว โดยมาสองครั้งก่อนหน้าประตูพิพิธภัณฑ์ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตะเถระ ก็ปิดทั้งสองครั้ง ได้เพียงแค่กราบหน้าประตูเท่านั้น เพราะเนื่องจากมาเย็น
รูป พิพิธภัณฑ์บริขารพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร
.
แต่คราวนี้ข้าพเจ้าสามารถเข้าไปยังพิพิธภัณฑ์ พระอาจารย์มั่น เพื่อกราบนมัสการองค์รูปเหมือนหลวงปู่มั่น และกราบอัฐิธาตุ
รูป รูปเหมือนพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ

รูป อัฐิธาตุของหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ ณ วัดป่าสุทธาวาส
.
จากหนังสือประวัติของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต ซึ่งหลวงปู่หล้าเป็นผู้เขียนด้วยตัวเอง และองค์หลวงปู่หล้าท่านได้เป็นศิษย์อีกรูปที่ได้ปรนนิบัติหลวงปู่มั่นในวาระสุดท้าย ได้กล่าวโดยสรุปใจความว่า หลังจากการหลวงปู่มั่นได้ละสังขาร ณ วัดป่าแห่งนี้ เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๒ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆของหลวงปู่ก็ถูกแจกจ่ายไปยังศิษยานุศิษย์ แต่ต่อมามีการสร้างพิพิธภัณฑ์ของพระอาจารย์ใหญ่ขึ้นมา โดยหลวงตามหาบัว ได้เป็นผู้ไปติดต่อ เจรจา ขอคืนสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆของหลวงปู่มั่นกลับคืนมา ซึ่งของทุกอย่างไม่มีข้อสงสัย ว่าเป็นของหลวงปู่มั่นที่เคยใช้ แต่มีเพียงสิ่งหนึ่งที่หลวงปู่หล้า สงสัยอยู่ นั่นก็คือ "บาตร"
รูป อัฐบริขารต่างๆของพระอาจารย์มั่น
รูป พระอุโบสถ วัดป่าสุทธาวาส
(สถานที่นี้เคยเป็นกุฏิที่พระอาจารย์มั่นมรณภาพ อีกทั้งยังเป็นที่ใช้ในการประชุมเพลิงพระอาจารย์มั่น)
.
ตรงกันข้ามกับพิพิธภัณฑ์พระอาจารย์มั่น เดินไปหน่อยจะพบกับเจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่หลุย จันทสาโร ซึ่งเป็นศิษย์องค์สำคัญของพระอาจารย์ใหญ่หลวงปู่มั่น โดยภายในจะมีรูปเหมือนหลวงปู่หลุย และมีอัฐิธาตุของหลวงปู่หลุย
รูป เจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่หลุย หรือเรียกว่า “จันทสารเจติยานุสรณ์”

รูป หุ่นขี้ผึ้งของหลวงปู่หลุย จันทสาโร และ อัฐิธาตุของหลวงปู่หลุย ภายในเจดีย์
.
จากนั้นข้าพเจ้าและครอบครัว ได้เดินทางต่อไปยังวัดป่านาคนิมิตต์ หรือวัดป่าบ้านนามน อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร เพื่อกราบหลวงปู่อว้านเขมโก และตามด้วยการกราบนมัสการพระธาตุพนม อ. ธาตุพนม จ.นครพนม
.
โดยในบทความนี้ขอข้ามมายัง พระธาตุพนม นะครับ เพราะบทความก่อนหน้านี้ ได้พูดถึงการไปทำบุญที่วัดป่านาคนิมิตต์มาแล้วครับ
รูป ประตูทางเข้าพระธาตุพนม

รูป พระธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม

รูป ประตูทางเข้า กับพระธาตุพนม
.
เพิ่มเติมเกร็ดความรู้สักเล็กน้อย ตามหนังสือประวัติหลวงปู่มั่น ได้กล่าวว่า เมื่อก่อนบริเวณแห่งนี้ไม่มีใครเหลียวแล เป็นที่รกล้าง ไม่มีใครรู้จัก ต่อมาหลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่นได้ ธุดงค์มาพำนักที่นี่ พอตกเวลากลางคืนปรากฏมีแสงผุดขึ้นออกจากยอดเจดีย์ หลวงปู่เสาร์ จึงพูดว่าที่พระเจดีย์นี้ต้องมีพระบรมสารีริกธาตุอย่างแน่นอน จึงได้ชักชวนญาติโยมทั้งหลาย ได้มาช่วยกันถากถางทำความสะอาด ชาวบ้านชาวเมืองต่างก็พากันปีติยินดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีพระธาตุอันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งบรรจุอัฐิธาตุของพระพุทธเจ้าอยู่ภายใน
.
ซึ่งเป็นที่น่าแปลก หนังสือประวัติของทางวัดจะไม่มีการระบุถึงเลย เกี่ยวกับเรื่องนี้ ครับก็เป็นเกร็ดความรู้เล็กน้อยๆที่มาฝากกันครับ
.
โดยบทความถัดไปนั้น ข้าพเจ้ายังได้เดินทางไปจ.มุกดาหาร เพื่อไปวัดบรรพตคีรี(ภูจ้อก้อ) และกราบนมัสการเขมปัตตเจดีย์ ซึ่งมีรูปเหมือนของหลวงปู่หล้า เขมปัตโต และอัฐิธาตุของหลวงปู่หล้า
.
กิตติวัฒน์ สิริเกษมสุข
16 เมษายน 2553
.
หมายเหตุ รูปทั้งหมดที่ลงในบทความนี้ เป็นรูปที่ข้าพเจ้าถ่ายเองจากกล้องในมือถือ นั่นความถึงเป็นรูป ณ ปัจจุบันนั่นเองครับ